Categories
Bankja

รูปแบบการโกงยอดฮิตที่ “พ่อค้าแม่ค้า” ออนไลน์ต้องรู้

ก่อนอื่นขออนุญาตเกริ่นสั้นๆ เนื่องจากผมอยู่ในวงการนี้มาได้ซักระยะแล้ว เจอรูปแบบการโกงจากลูกค้า / อดีตลูกค้า / และคนไม่เคยเป็นลูกค้ามาสารพัด จึงได้ทำการรวบรวมกลโกงต่างๆ ที่ “พ่อค้าแม่ค้า” ออนไลน์มือใหม่ (และมือเก่าแต่ยังไม่รู้) ควรรู้ไว้เพื่อป้องกันตัวเองครับ

ณ วันที่เขียนนี้ (28/07/57) ผมนึกวิธีโกงที่เคยเจอมาได้ 4 รูปแบบ

วิธีโกงที่ 1: SMS ลวง

ปัจจุบันนี้ทางธนาคารต่างๆ มีบริการ SMS แจ้งเตือนยอดโอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้โอนและผู้รับโอนสามารถแจ้งยอดเงินให้กันได้ทันทีโดยไม่ต้องไปคอยแจ้งยอดเช็คยอดให้เสียเวลา ซึ่งบริการนี้สะดวกมากจนมีคนหัวหมอนำเอาไปใช้ในทางไม่ดี โดยวิธีการของการโกงวิธีนี้จะมี 2 แบบ

แบบแรก “ว่าที่ลูกค้า” จะใช้เบอร์อะไรก็ไม่รู้ส่ง SMS แจ้งเตือนยอดโอนมาหาเราด้วยข้อความน่าเชื่อถือเหมือนระบบของธนาคารส่งมาเองยังไงยังงั้น แต่ถ้าดูให้ดีเห็นว่าชื่อผู้ส่ง SMS นี้จะเป็นชื่อแปลกๆ หรือเบอร์แปลกๆ จากนั้นซักพักท่าน “ว่าที่ลูกค้า” นี้ก็จะรีบติดต่อมาหา “พ่อค้าแม่ค้า” ทันทีว่าโอนแล้วนะ ให้รีบส่งของด่วน!!! ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็บอกตัวเองได้เลยว่าโดนของเข้าแล้ว

แบบสอง “ว่าที่ลูกค้า” ได้ทำการโอนเงินเรียบร้อยพร้อมให้ระบบของธนาคารส่ง SMS แจ้งเตือนมายัง “พ่อค้าแม่ค้า” ถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง ดูแล้วยอดเข้าแน่นอน ขายได้แล้ว แพ็คของเตรียมส่ง! แต่…เอ๊ะ มาสังเกตดูดีๆ เลขบัญชีที่อยู่ใน SMS มันของใครกันหนอ? ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้แปลว่าถ้า “ว่าที่ลูกค้า” ไม่ได้พลาดโอนผิดบัญชี ก็แปลว่าเจอพวกเนียนเข้าซะแล้ว แบบว่าทำเป็นโอนไปให้บัญชีญาติที่ไหนไม่รู้แล้วให้ธนาคารส่งข้อความมาหา “พ่อค้าแม่ค้า” หลอกให้ดีใจเล่นว่าเงินเข้า เผื่อได้ของไปฟรีๆ

วิธีป้องกัน หลังลูกค้าแจ้งโอนมาแล้ว ให้หมั่นตรวจสอบยอดเงินในบัญชีก่อนทำการส่งของทุกครั้ง เสียเวลานิด แต่ไม่ขาดทุนแน่นอน

วิธีโกงที่ 2: สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า

กลโกงนี้เป็นกลโกงคลาสสิคที่…ชั่วช้ามาก เพราะหลายครั้งที่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว การโกงรูปแบบนี้จะประกอบด้วยตัวละคร 3 ฝ่าย “พ่อค้าแม่ค้า” “ว่าที่ลูกค้า” และ “คนซวย” (จริงๆ อยากจะเรียก “คนซวย” ว่าเหยื่อ แต่ “พ่อค้าแม่ค้า” ก็เป็นเหยื่อในกรณีนี้เหมือนกัน)

วิธีการนี้จะค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อย จะขอค่อยๆ อธิบายเป็นข้อๆ เป็นลำดับไปนะครับ

  1. “พ่อค้าแม่ค้า” ประกาศขายสินค้าตามปกติ สมมุติว่าเป็น เสื้อยืดราคา 400 บาทละกัน
  2. “ว่าที่ลูกค้า” ผ่านมาพบเห็นเข้าเกิดความอยากได้ แต่ไม่อยากควักตัง
  3. “ว่าที่ลูกค้า” จึงไปทำการโพสขายของตามบอร์ดขายของต่างๆ โดยโพสขายอะไรซักอย่างที่ราคาถูกเหลือเชื่อ เพื่อให้ “คนซวย” มาติดกับไวๆ โดยราคาของที่ตั้งจะเท่ากันหรือมากกว่าราคาของที่ “ว่าที่ลูกค้า” อยากได้ พร้อมแจ้งรายละเอียดการติดต่อไว้เสร็จสรรพ ซึ่งส่วนใหญ่พวกนี้จะติดต่อผ่านทาง PM ของบอร์ดนั้นๆ หรือผ่านทาง LINE (เพราะไม่สามารถตามเบอร์ได้)
  4. หลังจาก “คนซวย” มาติดต่อขอซื้อแล้ว “ว่าที่ลูกค้า” ก็จะแจ้งรายละเอียดยอดที่ต้องโอนและ… เลขบัญชีธนาคารของ “พ่อค้าแม่ค้า”
  5. “คนซวย” ก็ดีใจว่างานนี้ได้ของถูก รีบจัดแจงโอนอย่างรวดเร็วแล้วก็มาแจ้ง “ว่าที่ลูกค้า” ว่าโอนแล้วนะครับ รบกวนส่งของมาด้วย ^_^
  6. “ว่าที่ลูกค้า” ก็ตอบรับไปพอเป็นพิธี แล้วก็รีบมาแจ้ง “พ่อค้าแม่ค้า” ทันทีว่า โอนแล้วนะครับ/คะ รีบส่งของมาด่วน!!!
  7. “พ่อค้าแม่ค้า” เห็นยอดเข้าปกติก็ส่งของไปให้ จบ…
  8. หลังจากนั้นไม่กี่วัน “คนซวย” ก็จะรู้ตัวว่าโดนหลอกโอนตังฟรีแล้วไม่ได้ของแน่นอน บางรายทำใจได้ก็เงียบหายไป บางรายก็ส่งข้อความไปด่าพ่อล่อแม่ “ว่าที่ลูกค้า”​ แต่ก็คงไม่มีประโยชน์เพราะโดนบล็อค บางรายฉลาดหน่อยก็เอาเลขบัญชีธนาคารที่ได้มาไปค้นใน Google ก็อาจโชคดีไปเจอกับเวป “พ่อค้าแม่ค้า” เข้า แล้วก็ติดต่อมาด่าต่อโดยที่ “พ่อค้าแม่ค้า” ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งสำหรับขั้นตอนการปฏิบัติหลังเจอปัญหานี้เดี๋ยวจะกล่าวกันต่อไป

วิธีป้องกัน สำหรับวิธีป้องกันก่อนเกิดเหตุสำหรับกลโกงนี้ต้องบอกตรงๆ ว่าป้องกันยาก เพราะถึงแม้จะขอหลักฐานการโอนมาให้ดูให้อุ่นใจ แต่ “ว่าที่ลูกค้า” ก็อาจไปขอจาก “คนซวย” มาส่งให้ดูก็ได้ ฉะนั้นถ้าเห็นใครดูอาการเร่งๆ รีบๆ ผิดปกติ แนะนำให้ปฏิบัติกับเค้าแบบใจเย็น เผื่อโชคดีเจอ “คนซวย” ที่ไหวตัวเร็วติดต่อมา ก็อาจทำให้ไม่ต้องมีใครเสียหายได้

แต่ถ้าเหตุเกิดไปแล้วคือมีการส่งของไปเรียบร้อยแล้ว และมี “คนซวย” ติดต่อมา ก็แนะนำให้คุยกันดีๆ ค่อยๆ อธิบายรูปแบบการโกงกันให้เข้าใจก่อน แล้วก็รีบให้ “คนซวย” ไปแจ้งความให้เรียบร้อยเพราะเป็นผู้เสียหาย จากนั้น “พ่อค้าแม่ค้า” ก็ควรช่วยให้ข้อมูลเท่าที่มีให้มากที่สุดเพื่อให้เป็นเบาะแสในการตามจับ “ว่าที่ลูกค้า” รายนี้ให้ได้

ข้อมูลที่พอจะมีได้เบื้องต้นก็ได้แก่เบอร์โทรที่ใช้ในการติดต่อกัน หรือ ชื่อ ที่อยู่ในการจัดส่งของ หรือถ้า “พ่อค้าแม่ค้า” มีหน้าเวปให้สั่งซื้อ ก็อาจมีข้อมูล IP Address เอาไว้ใช้ตามตัวได้ (แต่ถ้าสั่งซื้อกันผ่านทาง Facebook หรือ LINE จะไม่มีข้อมูลอะไรให้ตาม นอกจากชื่อ ที่อยู่ที่ใช้ในการจัดส่งอย่างเดียว)

ส่วนเรื่องเงินของ “คนซวย” ที่ “พ่อค้าแม่ค้า” ได้รับมา แนะนำให้อย่าเพิ่งรีบคืนโดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง เพราะถ้าคืนไว “คนซวย” เค้าก็ไม่มีเหตุอะไรให้ต้องตาม “ว่าที่ลูกค้า” คนนี้ต่อ หรือดีไม่ดีอาจเป็นแผนซ้อนแผน “คนซวย”​ กับ “ว่าที่ลูกค้า” อาจเป็นคนเดียวกันก็ได้ ฉะนั้นแนะนำให้แก้ปัญหานี้ตามกระบวนการยุติธรรมดีกว่า

วิธีโกงที่ 3: โอนผิดอ่ะ

อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีโกงที่เจอกันแอบบ่อย ซึ่งส่วนใหญ่คนที่โดนมักจะเป็น “พ่อค้าแม่ค้า” ที่มีชื่อเสียงนิดนึง เพราะถ้าเป็น “พ่อค้าแม่ค้า” ที่มีชื่อเสียงแล้ว มักมีจรรยาบรรณสูงส่งว่าชั้นไม่โกงลูกค้าแน่นอน เงินโอนผิดแค่นี้จิ๊บจ๊อยมาก ชั้นโอนคืนแน่นอน…

วิธีโกงแบบนี้จะคล้ายๆ กับวิธีที่ 2 ที่ได้แนะนำกันไปแล้ว (แนะนำให้อ่านวิธีที่ 2 ก่อนอ่านอันนี้) แต่ต่างกันเล็กน้อยตรงที่หลัก “คนซวย” โอนเงินมาแล้ว “ว่าที่ลูกค้า” จะแจ้งมายัง “พ่อค้าแม่ค้า” ว่าเมื่อกี้โอนเงินผิดอ่ะเตง ช่วยโอนคืนให้หน่อยนะ เลขบัญชีนี้ๆๆๆ ขอบคุณมากเบย

ซึ่งโดยปกติของคนดี เมื่อเจอกรณีแบบนี้ก็จะรีบโอนเงินคืนกลับไปให้ทันที เพราะมันเป็นลาภที่มิพึงได้ แต่… ก่อนโอนคืนอยากให้ตรวจสอบตามวิธีป้องกันนี้กันก่อนซักเล็กน้อย

วิธีป้องกัน เมื่อพบเหตุการณ์แบบนี้ อันดับแรกเลยคือควรขอหลักฐานการโอนจาก “ว่าที่ลูกค้า” มาดูก่อน แล้วเปรียบเทียบกับเลขบัญชีที่เค้าแจ้งมาให้โอนคืนว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็โอเค เป็นการโอนผิดจริงๆ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ให้ตอบกลับไปเลยว่า “พ่อค้าแม่ค้า” จะโอนเงินคืนไปยังบัญชีที่โอนเงินเข้ามานี้เท่านั้น หรือถ้าให้โอนบัญชีอื่น รบกวนส่งหลักฐานมาว่าเจ้าของบัญชีทั้งสองอันเป็นคนเดียวกัน

ถ้า “ว่าที่ลูกค้า” สามารถส่งหลักฐานมาพิสูจน์ให้ “พ่อค้าแม่ค้า” สบายใจได้ ก็ค่อยโอนคืน แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้เรายังไม่ต้องรีบโอนคืน แล้วรอ “ว่าที่ลูกค้า” ไปแจ้งความ (ถ้าเค้าโกงเค้าคงไม่กล้าแจ้ง) หรือถ้าโชคดีก็อาจมี “คนซวย” เจ้าของเงินตัวจริงติดต่อมา เราจะได้คืนเงินได้ถูกคน หรือถ้าไม่ติดต่อมาเลย ก็อย่าลืมเอาเงินนี้ไปทำบุญบ้างอะไรบ้างเพื่อให้เจ้าของเงินเค้าได้บุญกันนะครับ

วิธีโกงที่ 4: น้องพลับขอสอง

สำหรับวิธีนี้ก็มักเกิดจาก “ลูกค้า” เนียนโดยตั้งใจ (หรืออาจไม่ตั้งใจ) โดยวิธีการง่ายๆ คือหลังจากซื้อขายกันปกติแล้ว “พ่อค้าแม่ค้า” ส่งของไปเรียบร้อยแล้ว ผ่านไปหลายวัน “ลูกค้า” ท่านนี้ก็ติดต่อมาว่ายังไม่ได้ของ!! คือกรณีแบบนี้อาจเกิดจากยังไม่ได้ของจริงเพราะส่งไม่ถึง หรือคนอื่นรับไปแต่ไม่รู้ หรืออาจจะได้ของแล้วแต่อยากได้อีกอันก็มาตีเนียนได้

วิธีป้องกัน การส่งของทุกครั้งแนะนำให้ส่งแบบ ลงทะเบียน หรือ EMS เพราะสามารถตรวจสอบสถานะของการส่งได้ อีกทั้งยังรู้ด้วยว่าใครเซ็นรับของไป ฉะนั้นยอมเสียค่าส่งแพงอีกนิดดีกว่า ดีกว่าเสียของฟรีๆ นะ

สรุป

สำหรับ “พ่อค้าแม่ค้า” ท่านใดที่เคยประสบวิธีโกงนอกเหนือจากนี้ก็เขียนเมลมาเล่าสู่กันฟังได้ที่ “bankja แอต me.com” นะครับ จะได้นำมาอัพเดทลงในเวปให้เป็นประโยชน์กับ “พ่อค้าแม่ค้า” ท่านอื่นต่อไป

ถ้าท่านใดโดนโกงไปแล้วอยากหาคนปรึกษา ขอบอกเลยว่าผมไม่รับปรึกษานะครับ แต่ถ้าอยากส่งมาปรึกษาก็ไม่ว่ากัน ส่วนผมจะตอบหรือไม่อันนี้ขอดูเป็นกรณีไป ฉะนั้นห้ามว่ากันถ้าไม่ตอบเมลนะครับ

เดี๋ยวไว้รอว่างมากๆ อีกรอบจะเขียนรูปแบบการโกงที่ “ลูกค้า” ต้องรู้มาให้อ่านกันอีกทีครับ

@Bankja

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.